วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

การแกะสลัก

  ผักและผลไม้
 
รูปทรงของผักและผลไม้
ผัก และผลไม้ในประเทศไทยมีมากมายหลายชนิดโดยทั่วไปจะมีรูปทรงกลม และรูปทรงกระบอก ซึ่งเป็นรูปทรงพื้นฐานในการแกะสลักได้ทุกลวดลาย ผักและผลไม้สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ
1. ผลไม้ที่มีเนื้อบาง จะสามารถแกะสลักได้ไม่มากนัก และเหมาะกับการปอกคว้าน เพื่อการรับประทาน เช่น ชมพู่ พุทรา ละมุด มะปราง เงาะ
2. ผลไม้เนื้อหนา จะสามารถปอก คว้าน ตัดแต่งให้เป็นชิ้นที่มีรูปร่างตามต้องการ เพื่อการรับประทาน และแกะสลักได้ตามความต้องการ ของผู้แกะสลัก เช่นแตงโม แคนตาลูป มันแกว มะม่วง มะละกอ
การเลือกซื้อผลไม้เพื่อการแกะสลัก
1. เลือกตามฤดูกาลที่มี จะได้ผลไม้ที่มีความสด และราคาถูก
2. เลือกให้ตรงกับความต้องการหรือวัตถุประสงค์ในการแกะสลัก เช่นเพื่อการปอกคว้าน เพื่อการแกะสลักเป็นภาชนะ
3. เลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับผลงานที่จะแกะสลัก โดยเฉพาะการแกะสลักภาชนะจะต้องเลือกรูปทรงและขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน
4. เลือกให้สด สวยตามลักษณะของผลไม้ที่แกะสลัก ทั้งผิวพรรณ และอายุของผลไม้

แครอท
ผักหัว สีส้มสด เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ เลือกหัวตรง ผิวเปลือกไม่เหี่ยว หัวสด ขั้วเขียว เนื้อละเอียด แน่นและเนียน ไม่เป็นเสี้ยน จะทำให้สลักเป็นลวดลายต่างๆได้ง่าย ลวดลายที่สลักมีความคมชัดและสวยงามดังนั้นคนที่จะสลักต้องมีความชำนาญพอ สมควร นอกจากนี้แล้วมีดที่ใช้สลักต้องคม จะทำให้ลวดลายที่ได้คมบางพลิ้ว ได้งานสลักที่มีความงดงาม สามารถเก็บได้นาน เพียงแต่นำงานที่สลักเสร็จแล้วแช่น้ำเย็นสักครู่เก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาแช่ตู้เย็นช่องธรรมดา

แครอทที่สลักเพื่อใช้รับประทาน และประดับจานอาหารไปในตัวนั้น นิยมจัดในจานสลัด อาหารจานเดียว เช่น จานข้าวผัด ตลอดจนจานอาหารฝรั่งแบบจานหลัก จะเลือกสลักเป็นลวดลายง่ายๆ เช่น สลักเป็นดอกไม้ต่างๆ ใบไม้แบบง่ายๆ เป็นริ้วลายสวยแล้วนำมาจัดเป็นผักหัวจาน จัดคู่กับผักสีเขียวอย่างแตงกวา แตงร้าน กะหล่ำปลีทั้งสีเขียว สีม่วง เป็นต้น

แครอทที่สลักเจตนาใช้ประดับหัวจานให้ดูสวยงามเท่านั้น นิยมสลักเป็นลวดลายดอกไม้ดอกใหญ่ ลวดลายสลับซับซ้อนสวยงาม มีฐานดอกวางที่หัวจานได้ แต่งด้วยกลีบใบแตงกวา เมื่อใช้เสร็จสามารถล้างน้ำเย็นใส่กล่องเก็บไว้ใช้คราวหน้าได้อีก เก็บได้นาน 2-3 วันในตู้เย็น


แตงกวา แตงร้าน
ผัก เนื้ออ่อนมีน้ำมาก เลือกที่เปลือกสด ลายสีเขียวอ่อนสลับขาว ลูกอวบอ้วนจะมีเนื้อหนา ไส้น้อย แตงกวา แตงร้าน ที่จะนำมาสลักให้เลือกซื้อแตงที่ยังสด ขั้วยังเขียวอยู่ ล้างน้ำให้สะอาดซับน้ำให้แห้งแล้วสลักทันที จึงจะได้ชิ้นงานที่สวย กลีบใบแข็งสดฉ่ำน้ำ ถ้ายังไม่สลักให้เก็บแตงในตู้เย็นโดยไม่ต้องล้าง แตงจะยังคงสภาพสดและไม่แก่ เปลือกแตงยังคงเขียวไม่เหลือง เมื่อได้ชิ้นงานแล้วให้เก็บใส่กล่องหรือถุงพลาสติก เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง เกินกว่านั้นชิ้นงานจะเฉาไม่สวย

สลักแตงกวา แตงร้าน เพื่อรับประทานจะสลักลวดลายง่ายๆ เช่น ลายใบไม้แบบต่างๆ อย่างใบไม้แบบฉลุด้านที่เป็นเปลือก หรือสลักแบบให้เส้นลายใบละเอียดด้านที่เป็นเนื้อ นำมาตกแต่งในอาหารจานเดียวรวมกับผักสีแดง สีเหลือง สีส้ม ที่สลักเป็นดอกไม้ เช่น อาหารจานข้าวผัดต่างๆ หรืออาหารจานกับข้าว แตงกวา แตงร้านสลักสามารถรับประทานได้ นอกจากนี้ยังจัดในจานน้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นผักสดรับประทานด้วย

สลักแตงกวาแตงร้านจัดแสดงฝีมือ เน้นความสวยงาม นิยมใช้แตงกวาหรือแตงร้านลูกอวบอ้วน เพราะมีเนื้อมากและลูกใหญ่ สลักเป็นดอกบัว รูปสัตว์ นำมาตกแต่งแซมในถาดน้ำพริกหรือผักสลักชนิดอื่นๆ ให้เกิดความหลากหลายของลวดลายในถาดผักสลัก

มะเขือเทศ
มีหลายพันธุ์ หลายสีสันหลายขนาด และหลายชนิด นิยมมะเขือเทศลูกใหญ่ ผิวเปลือกสดสีแดงเข้าสม่ำเสมอทั้งลูก เนื้อหนา เมื่อสลักจะได้ชิ้นงานที่มีสีแดงสด มีดที่ใช้ในการสลักต้องคม เพราะเปลือกของมะเขือเทศมีความเหนียว ถ้ามีดไม่คมจะทำให้เนื้อมะเขือเทศช้ำ เมื่อสลักได้ชิ้นงานแล้ว ต้องไม่ให้ถูกน้ำอีกเลย ใส่ในกล่องหรือถุงพลาสติก เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาก่อนนำออกมาใช้ ซึ่งจะเก็บได้นานถึง 24 ชั่วโมง

สลักมะเขือเทศเพื่อรับประทานนั้น ถ้านำไปเสิร์ฟกับผักสะบัดนิยมสลักเป็นถ้วย โดยสลักปากถ้วยเป็นลายฟันปลา ใส่น้ำสลัด เสิร์ฟพร้อมกับจานผักสลัด หรือนำมะเขือเทศสีดามาสลักเป็นกลีบดอก กรีดแยกออกจากไส้คงรักษาไว้ให้เป็นเกสร ใช้ตกแต่งอาหารจานเดียว เช่น ข้าวผัด มีแตกงกวาหรือต้นหอมแซมมาด้วย

สลักมะเขือเทศเป็นดอกไม้ ต้องใช้มะเขือเทศห่ามเท่านั้นจึงจะทำได้ นิยมแต่งหัวจานกับข้าวให้ดูสวยงามน่ารับประทาน ดอกกุหลาบมะเขือเทศนิยมทำกันมากทำง่ายๆ เพียงใช้มีดคมกริบค่อยๆ ปอกเปลือกมะเขือเทศบางๆ เป็นวงรอบมะเขือเทศ อย่าให้เปลือกขาด จากนั้นนำเปลือกมะเขือเทศมาขดเป็นวงซ้อนๆกัน จะได้ดอกกุหลาบสีแดงสดสวยทีเดียว เนื้อในมะเขือเทศก็นำไปใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารอื่นๆได้

หัวไชเท้า
เป็นผักหัวสีขาว แท่งยาวตรง ปลายรี เนื้อสีขาวใส เนื้อกรอบเพราฉ่ำน้ำ นำมาสลักได้หลากหลายลวดลาย เลือกหัวไขเท้าที่มีผิวสด ไม่เหี่ยวเปลือกขาวสะอาด ผิวเรียบสม่ำเสมอทั้งหัว รูปทรงกระบอกแนวตรง หัวใหญ่ เนื้อไม่ฟ่ามหรือเหี่ยว จึงสามารถสลักได้ลวดลายแบบและหลายขนาด ชิ้นงานจะออกมาขาวสะอาด

สลักหัวไชเท้าไว้รับประทาน นิยมปรุงสุก ที่รับประทานกับอาหารฝรั่ง จะเกลาเป็นหัวไชเท้าลูกเล็ก ทำเป็นรูปใบไม้อย่างหนา หรือสลักเป็นลวดลายกลมๆ อย่างง่าย ถ้านำไปทำแกงจืดจะตัดเป็นท่อนตามขวางก่อนสลักเป็นดอกเล็กๆ หลายๆ แบบอย่างง่ายๆ

สลักหัวไชเท้าดิบ นิยมสลักเพื่อนำมาประดับหรือตกแต่งหัวจานให้ดูสวยงามเท่านั้น สลักเป็นรูปดอกไม้แบบต่างๆ นำไปย้อมสีผสมอาหารให้ได้สีสันหลากหลายตามต้องการ ลวดลายที่สลัก เช่น ลายดอกกุหลาบ ลายดอกดาวเรือง ลายดอกลั่นทม

สลักหัวไชเท้าดิบเพื่อนำไปแต่งเครื่องสดก็เช่นเดียวกัน นิยมสลักเป็นดอกไม้ ลวดลายสวยงามละเอียด สลักเป็นนก รูปผีเสื้อ และสัตว์เล็กสัตว์น้อย พร้อมกับแต่งแต้มสีสันเลียนแบบธรรมชาติ ทำให้ดอกหัวไชเท้าดูเหมือนดอกไม้จริงยิ่งขึ้น

พริก
มีหลายสายพันธุ์ ที่นิยมนำมาสลักคือ พริกชี้ฟ้า พริกหวาน เพราะมีเนื้อมาก สีสดสวย มีทั้งสีแดง สีเขียว สีเหลือง ส่วนพริกขี้หนูนิยมนำมาตกแต่งทั้งเม็ด โดยเฉพาะพริกขี้หนูสวน ถ้าเม็ดใหญ่ขึ้นมาหน่อยจะสลักเป็นดอกไม้ดอกเล็กสำหรับตะแต่งถ้วนน้ำพริก เล็กๆ พริกที่สลักต้องเลือกผิวเปลือกที่สด ไม่เหี่ยว ขั้วมีสีเขียวสด ไม่เน่า และดำคล้ำ ถ้าเป็นพริกชี้ฟ้าความยาวประมาณ 2 นิ้ว

สลักพริกเพื่อรับประทาน พริกขึ้นชื่อว่าเผ็ด ถ้าสลักพริกเป็นดอกเป็นดวงจะไม่นิยมนำไปรับประทาน จึงหั่นเป็นชิ้นเฉียงบ้าน แฉลบบ้าง ใส่เป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือซอยเป็นเส้นๆ เท่านั้น

สลักพริกเพื่อนำไปตกแต่ง จะนิยมตกแต่งในอาหารไทยจำพวกแกง ผัด และทอด นิยมใช้พริกชี้ฟ้าทั้งสีแดง และสีเขียว นำมาสลักเป็นดอกเป็นดวง เช่นดอกพริกที่สลักมีตั้งแต่ 4 กลีบไปจนถึง8 กลีบ แช่น้ำให้ดอกบาน ตกแต่งหัวจานกับต้นหอม ผักกาดหอม

มะเขือต่างๆ
ที่นำมารับประทานกับน้ำพริกก็มีมากมายหลายพันธุ์ ที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลายได้แก่ มะเขือเหลือง มะเขือไข่เต่า มะเขือเสวย มะเขือม่วง มะเขือเปราะ ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็มีสีสันที่แตกต่างกันไปเมื่อนำมาจัดรวมกันก็จะได้สีที่มี ความหลากหลายในถาดน้ำพริก ต้องเลือกมะเขือที่แก่จัด ขั้วสีเขียวสด ผิวเปลือกไม่เหี่ยว ไม่มีรอยช้ำหรือแมลงกัด มะเขือเมื่อถูกอากาศจะทำให้ดำ จึงต้องนำมะเขือที่สลักเสร็จแล้วแช่ในน้ำที่ผสมน้ำมะนาวสักครู่ เอาขึ้นจากน้ำ ใส่กล่องจัดเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา เนื้อมะเขือจะยังขาวและน่ารับประทาน

สลักมะเขือเพื่อรับประทาน นิยมสลักจัดในถาดน้ำพริกนานาชนิด เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกมะขาม น้ำพริกอ่อง หลน เป็นต้น หรือหั่นเป็นชิ้นสลักด้วยลายง่ายๆ สลักด้านข้างให้เหมือนใบไม้ ใส่ในแกงต่างๆ หรือผัด เพื่อเพิ่มความสวยงาม การสลักมะเขือทั้งลูกเป็นดอกไม้ต่างๆ เช่น ดอกดาวกระจาย ให้ใช้มะเขือเสวยมาสลัก ดอกประดิษฐ์สีเหลืองใช้มะเขือเหลืองมาสลัก และเพื่อสะดวกในการรับประทาน ยังนำมะเขือเหลืองมาสลักเป็นใบไม้ลายฉลุ ตกแต่งในจานน้ำพริกด้วย

สลักมะเขือเพื่อตกแต่ง และให้รับประทานได้ด้วยจะสลักเป็นใบไม้ง่ายๆ แบบต่างๆ ทั่งลายฉลุ ลายใบไม่ละเอียดนัก ถ้าจัดหัวจานเพียงอย่างเดียว เช่นอาหารจานเดียวและกับข้าว จะเลือกใช้มะเขือม่วง และมะเขือเหลือง เพราะมีขนาดใหญ่กว่ามะเขือชนิดอื่น



แรดิช
เป็นรากสะสมอาหารอยู่ใต้ดินเรียกว่าหัว หัวมีขนาดเล็ก มีลักษณะกลม รูปไข่ หรือยาวเรียวเนื้อในขาว กรอบชุ่มน้ำ สลักเป็นดอกไม้แต่งจานอาหารให้เลือกหัวกลม ขนาดตามต้องการ ผิวสีสดสม่ำเสมอไม่มีรอยช้ำ ขั้วสด เนื้อแน่น เมื่อสลักได้ชิ้นงานแล้ว ให้แช่น้ำในกล่องนำเข้าตู้เย็นก่อนนำออกมาใช้งาน แต่ถ้าต้องแช่นานให้เอาขึ้นจากน้ำห่อกระดาษทิชชูสีขาวเก็บใส่กล่องไว้ในตู้ เย็น จะทำให้กลีบดอกแข็งสดและอิ่มตัว

เผือก
เป็นผักหัวที่มีเนื้อแน่นและละเอียด เนื้อมีลักษณะคล้ายหินอ่อน เมื่อนำมาแกะสลักจะได้ลวดลายเฉพาะของเนื้อเผือก และลวดลายที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วย มีทั่งหัวใหญ่และหัวเล็ก เลือกหัวที่มีน้ำหนัก ส่วนที่เป็นลำต้นมีสีเขียวและสั้น สลักได้ทั้งดอกไม้ และใบไม้แบบง่ายๆ สลักเป็นภาชนะใส่อาหาร เมื่อสลักได้ชิ้นงานแล้วอย่านำชิ้นงานไปแช่น้ำนาน เพราะจะทำให้แป้งที่อยู่ในเนื้อเผือกออกมามาก ทำให้ลวดลายที่สลักไม่สดสวย ให้จุ่มน้ำเย็น เก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาหรือใส่ถุงพลาสติกเก็บในตู้เย็นได้นาน 2 วัน
สลักเผือกเพื่อรับประทาน ไม่นิยมรับประทานดิบเพราะมียางจะทำให้คัน จึงนิยมทำให้สุกก่อนรับประทานโดยใส่เป็นส่วนประกอบในอาหาร ทั้งอาหารคาว เช่น แกงเลียงเผือก และอาหารหวาน เช่นนำไปเชื่อม และสลักเป็นภาชนะใส่สังขยาเป็นสังขยาเผือก เลือกลายสลักแบบง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน หรือละเอียดจนเกินไป เพราะเผือกเมื่อสุกเนื้อจะมีลักษณะฟู
สลักเผือกเพื่อตกแต่งหัวจานเพียงอย่างเดียวนิยมใช้เผือกดิบมาสลักเป็นดอกไม้ ทั้งลายดอกกุหลาบลายดอกรักเร่ เป็นต้น สลักทั้งดอกเล็ก ดอกใหญ่ นำมาตกแต่งหัวจานอาหารกับแตงกวาสลักเป็นใบไม้

ฟักทอง
มีหลายหลายพันธุ์ หลายสี แต่ที่นิยมนำมาสลักเป็นฟักทองเนื้อสีเหลืองและสีเหลืองออกส้มเพราะหาได้ง่าย เนื้อละเอียด แน่นและหนา ผลใหญ่ เนื้อเยอะ เมล็ดน้อย

สลักฟักทองเพื่อนำมาใช้รับประทาน นิยมสลักลวดลายเรียบง่าย เพื่อรักษาเนื้อฟักทองให้เป็นชิ้นเป็นอัน เช่น สลักฟักทองเพื่อเป็นผักจิ้มน้ำพริก นิยมสลักลายลงข้างฟักทองบ้าง ต้องเป็นลายง่ายๆ ไม่กินเนื้อลึกเมื่อนึ่งสุกแล้วลวดลายจึงจะยังคงอยู่

สลักฟักทองเพื่อใช้เป็นผอบ นิยมสลักทั้งลูกโดยปอกเปลือกออกให้หมด เกลาฟักทองให้เป็นรูปโถ คว้านเมล็ดให้เรียบร้อย แล้วจึงลงมือสลักให้เป็นดอกเป็นดวงที่งดงามวิจิตร เช่นลายดอกข่า ลายดอกกูหลาบ ลายดอกรักเร่แปลงฯลฯ จากนั้นก็นำไปใช้เป็นภาชนะใส่น้ำพริกหรือหลน เป็นต้น

สลักฟักทองเพื่อนำไปเชื่อม นิยมสลักเป็นรูปดอกไม้แบบต่างๆ หลายๆ รูปแบบ ลายต้องไม่ละเอียดหรือพลิ้วจนเกินไป จะทำให้กลีบดอกหัก เมื่อเชื่อมเสร็จจะได้ชิ้นงานสวยเป็นเงางาม
งานฟักทองที่แกะสลักแล้ว ให้จุ่มน้ำเท่านั้น ไม่ควรแช่น้ำ เพราะทำให้กลีบช้ำได้

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความสำคัญของงานแกะสลัก

ความสำคัญของงานแกะสลัก


งานศิลปะดั้งเดิมของไทยนั้นมีอยู่มากมายหลายอย่างหลายแขนง การแกะสลักผัก ผลไม้นั้นเป็นงานที่มีคุณค่า มีความสำคัญมากมายหลายประการ ซึ่งสามารถพอจะแยกเป็นหัวข้อได้ดังนี้

1. นำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
- สามารถตัด แต่งผัก ผลไม้ เป็นชิ้นเป็นคำมีความสวยงามและ เพื่อความสะดวกในการรับประทาน

2. นำมาใช้ในโอกาสพิเศษ ตามงานเลี้ยงต่างๆ
- สามารถแกะสลักผัก ผลไม้ เพื่อนำไปจัดตกแต่งอาหารต่างๆ เช่น แกะสลักผักหรือผลไม้เป็นผอบเพื่อใส่อาหาร และใช้ในการตกแต่งสถานที่ให้ดูสวยงามน่าชมได้อีกด้วยเช่น การแกะสลักแตงโมหรือแคนตาลูปทั้งผลเพื่อตกแต่งสถานที่ในงานให้สวยงาม

3. สร้างสมาธิให้กับผู้ที่แกะสลัก
- การแกะสลักผัก ผลไม้จะต้องมีสมาธิ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุจากมีดที่ใช้ในการแกะสลักได้ และชิ้นงานที่ได้จะมีความประณีตสวยงามไม่มีรอยช้ำตามต้องการ

4. เสริมสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- เมื่อผู้แกะสลักเรียนรู้วิธีการแกะสลักอย่างชำนาญแล้ว จะมีความเข้าใจและสามารถสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ได้ตามความต้องการ

5. สร้างความภาคภูมิใจแก่ตัวเอง
- การแกะสลักถือเป็นงานที่มีความยากอย่างหนึ่ง แต่หากได้มีการเรียนรู้อย่างมีระบบ มีขั้นตอน และใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน จะสามารถทำได้อย่างง่ายดายและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

6. อนุรักษ์สืบสานศิลปะการแกะสลักของไทย
- ปัจจุบันมีผู้สนใจงานด้านแกะสลักผักและผลไม้อย่างจริงจังน้อยลง เนื่องจากค่านิยมมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีผู้สนใจที่จะเรียนรู้การแกะสลักผักและผลไม้ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพในต่างประเทศ และการแกะสลักผักและผลไม้เป็นวิชาหนึ่งของการศึกษาในสาขาคหกรรมศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่ยังมีกลุ่มคนที่มีการอนุรักษ์สืบทอดให้คงอยู่ต่อไป